คำอธิบายเสียงกีตาร์อาจแบ่งเป็นหมวดคำ พื้นฐานเรื่องอคูสติก เช่น Timbre Pitch Volume

คำที่แสดงลักษณะเสียงกีตาร์ซึ่งนำความเข้าใจในหมวดแรกมาอธิบายเพิ่มเติมได้แก่

Presence, Dynamic Range, Separation, Balance, Sustain, Wraparound & Projection
● Timbre

Timbre อ่านว่า”TAM-brah” เป็นคำมาจากภาษาฝรั่งเศษ ตรงกับคำว่า Tone quality,Tonecolour.
หรือภาษาไทยเรียก “สีสันเสียง” มีความหมายว่า เป็นสิ่งที่ช่วยแยกแยะคุณภาพของเสียงหรือแยกแยะเครื่องดนตรี เสียงร้องออกจากกันได้ Oxford Concise Dictionary of Music.(1995 : 738)

ไม่เพียงแยกแยะเครื่องดนตรีออกจากกันเท่านั้น ยังลงลึกถึงการให้เสียงที่แตกต่างกันในเครื่องดนตรีชนิดเดียวกันด้วย เช่น กีตาร์คลาสสิก เมื่อดีดตำแหน่งต่างกันส่งผลให้เสียงต่างกันด้วย
หรือแม้แต่ดีดตำแหน่งเดียวกันแต่ใช้มุมเล็บต่างกัน เสียงก็ต่างกัน

ผู้ประพันธ์เพลงและนักเล่นกีตาร์นำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างอารมณ์ที่แตกต่างกันในบทเพลงตัวอย่างคำที่ใช้แสดงลักษณะของเสียงกีตาร์ได้แก่ dark(มีความมืดมน) bright(ความสว่างสดใส) opaque(ทึบ)transparent(ใสแบบแสงผ่าน) warm(ความสว่างอบอุ่น) dull(มัว) sharp(เสียงที่ชัดเจน) mellow(อ่อนหวานจับใจ) harsh(แหบกระด้าง) clear(ความใสชัดเจน) rounded(ออกมากลม) flat(แบน) เป็นต้น

● Pitch

Pitch ตรงกับภาษาไทยว่า “ระดับเสียง” เป็นคุณสมบัติ ความทุ้ม แหลม ของเสียง โดยเกิดจากความถี่ต่างกัน ความถี่สูงเสียงแหลม(เสียงสูง)ความถึ่ต่ำเสียงทุ้ม(เสียงต่ำ) เช่น เสียงมีความถึ่ 440 ครั้งต่อวินาที หรือ 440 Hertz(Hz) (เฮิร์ทซ์) เป็นเสียงตัวโน้ตลา(A4)

ระดับเสียงต่ำสุดของกีตาร์คือ เสียง E สาย 6 มีความถี่ 82.41 Hz เป็นต้น หูคนเราฟังย่านความถี่ได้ตั้งแต่ 20 Hz- 20,000 Hzสำหรับกีตาร์การกำหนดระดับเสียงขั้นอยู่กับระยะ ความสั่น ยาว ของสายกีตาร์เป็นตัวกำหนด ถ้าสายมีความยาวจะให้ระดับเสียงต่ำ ถ้าสายมีขนาดสั้นเสียงจะให้ระดับเสียงสูง ตำแหน่ง Fret ที่ต่างกันนั่นเอง

● Volume

Volume คือ ระดับความดัง เบา ของเสียง มีหน่วยเป็น เดซิเบล(dB) ระดับที่หูเรา เริ่มได้ยินคือ 0 dB ได้ยินดังสุดที่ไม่เจ็บหู 120 dB, การจราจรแออัดประมาณ 80 dBการพูดคุยประมาณ 60 dB ในห้องสมุดประมาณ 20 dB เสียงกรอบแกรบของใบไม้ประมาณ 20 dB เป็นต้นระดับความดัง เบา

เป็นคุณสัมบัติสำคัญของกีตาร์ขึ้นอยู่กับความอิสระในการสั่นของไม้หน้าซึ่งถูกขับ (Driven) ด้วยสาย มีหลายปัจจัยเกื้อหนุน ได้แก่ คุณภาพและความหนาของไม้รุปแบบBrace คุณภาพไม้หลังและไม้ข้างซึ่งเป็นตัวสะท้อนเสียง(Resonator) ชนิดสายกีตาร์ขนาดและความตึงของสาย ปริมาตรของตัวกีตาร์ เป็นต้น

● Dynamic Range

Dynamic Range เป็นช่วงของระดับเสียง(Volume)เบาสุดถึงดังสุดของกีตาร์ที่สามารถให้ได้ โดยที่คุณภาพของเสียงกีตาร์ยังดีอยู่เช่น ถ้าเล่นเบาคุณภาพเสียงควรเหมือนกับเล่นที่ความดังปลานกลาง ได้ยินชัด เสียงไม่แกว่ง หางเสียงยาวเท่าๆ กัน หรือ ถ้าเล่นเสียงดัง เสียงไม่แตก เป็นต้น
กีตาร์ที่ดี ควรมี Dynamic Range กว้างเพราะในบทเพลงต้องใช้ความดังเบาที่แตกต่างกันสร้างอารมณ์ให้หลากหลาย

นอกจากนี้ระดับเสียงที่ดังขึ้นต้องตอบสนองต่อผู้เล่นในทุกๆ ระดับเสียง ยิงละเอียดยิ่งดี ประมาณ ว่า ถ้าเปรียบกับเสกลของไม้บรรทัด อันที่ 1 บอกในระดับเซนติเมตร กับ อันที่สองบอกละเอียดถึงระดับ มิลลิเมตร ในระยะ 10 เซนติเมตรเท่ากัน(ใน Dynamic Range เท่ากัน) ไม้บรรทัดอันที่ 1 มี 10 ช่วง แต่อันที่สองมีถึง 100 ช่วง

● Separation

Separation เป็นความสามารถของเครื่องตนตรีที่แสดงออกมาเมื่อเล่นโน็ตพร้อมกัน โดยโน็ตทั้งหมดจะถูกรับรู้อย่างชัดเจนและเป็นเอกเทศมากกว่าการผสมกัน เช่น separation ดี จะได้ยินเสียงแต่ละตัวโน้ตแยกออกจากกันชัดเจน ทำให้เสียงกีตาร์มีมิติมากขึ้น หรือ ในบทเพลงแต่ละบทเพลงต้องมีลายประสาน ทำนองหลัก ลายเบส

กรณีนี้บางครั้งมีการเล่นโน๊ตพร้อมๆ กัน กีตาร์มี separation ดีทำให้ผู้เล่นกีตาร์คุมเสียงได้ง่ายขึ้น และผู้ฟังสามารถฟังเสียงแต่ละลายประสานเสียงได้ชัดเจน ส่งผลให้เกิดอรรถรสในการฟังบทเพลงนั้นๆ

● Balance

Balance แปลว่า “ความสุมดล ความคงที่” ในทางกีตาร์ balance เป็นความสัมพันธ์ระหว่างโน๊ตระดับเสียงต่ำและระดับเสียงสูง(Pitch)ในรูปแบบของ ระดับเสียง(Volume)และ ความสมบูรณ์ของตัวโน๊ต(Fullness) ที่มีความสม่ำเสมอกันตลอดช่วง เช่น กรณีเสียงกีตาร์ไม่ balance ในช่วงโน๊ตเสียงต่ำอาจเรียกว่าเสียง boomy ซึ่งเป็นลักษณะเสียงที่มีย่านความถี่ต่ำดังเกินไป เมื่อเราเล่นตัวโน๊ตความถี่ต่ำจะมีความดังกว่าปกติเมื่อเทียบกับโน๊ตในย่านความถี่อื่นๆ

เพื่อให้เห็นภาพชัดลองนึกถึง Equalizer(EQ) สำหรับการมิกซ์เสียงดนตรี ซึ่งเครื่องดนตรีแต่ละชนิดต้องการความเด่นของช่วงความถี่ต่างๆ กัน ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกัน โดยทั่วไปกีตาร์ ตัวมันเองไม่สามารถปรับ balance แต่การติดภาคขยายเสียงที่มี EQ อาจช่วยในการปรับ balance ของเสียงกีตาร์ได้บ้าง

และกีตาร์แต่ละตัวมีความ balance ในแต่ละย่านความถี่ต่างกันสาเหตุหนึ่งเนื่องจากปริมาตรของตัวกีตาร์(Sound box)ที่มีขนาดต่างกัน ถ้ามีปริมาตรใหญ่จะมีแนวโนัมย่านความถี่ต่ำ ถ้าปริมาตรเล็กจะมีแนวโน้มในย่านความถี่สูง ซึ่งมีประโยชน์ในการเล่นแบบ ensembleกีตาร์บางตัวเด่นในย่านความถี่ต่ำเหมาะสำหรับลายเบส ส่วนที่มีความเด่นในย่านความถี่สูงเหมาะสำหรับโซโล เป็นต้น

● Ambience

Ambience แปลว่า สภาพแวดล้อม คำนี้อธิบาย เสียงของกีตาร์ที่สภาพแวดล้อมต่างกันว่าออกมาต่างหรือเหมือนกันอย่างไร สำหรับกีตาร์ตัวเดียวกันเช่น เมื่อเล่นกีตาร์ในห้องขนาดที่ไม่เท่ากัน หรือ ห้องที่มีวัสดุไม่เหมือนกัน ห้องที่มีสภาพความร้อนชื้นต่างๆ กัน

ความแตกต่างเหล่านี้มีผลต่อเสียงกีตาร์ไม่มากก็น้อย เช่น บางครั้งอาจรู้สึกเสียงกีตาร์มีพลังน้อยลง การตอบสนองช้าลง เป็นต้น กีตาร์ทีดีควรมีความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน น้อย เพราะผู้เล่นจะควบคุมเสียงกีตาร์ได้ตามประสงค์

● Sustain

โดยทั่วไปคำว่า Sustain ที่เราเข้าใจกัน คือความยาวของเสียงกีตาร์หลังจากดีดจนเสียงเงียบลงคราวนี้ลองมาดูความหมายลึกๆ กันบ้าง Sustain เป็นเรื่องของเสียง ซึ่งมีเรื่องของเวลาเข้ามา เกี่ยวข้อง เป็นส่วนหนึ่งในหัวข้อ Envelope of Sound(เกี่ยวกับการเกิดเสียงตั้งแต่เริ่มดังขึ้น จนเสียง มีคำศัพท์บางคำอาจได้ยินคุ้นหูได้แก่ Fast Attack ซึ่งหมายถึง

การเกิดเสียงถึงจุดดังสุดด้วยระยะเวลาที่สั้นในช่วง Attack เช่น เสียงกระแทกประตู เสียงปืน เสียงตบมือ เป็นต้น Sustain มีความสำคัญต่อเครื่องดนตรี ส่วนใหญ่นักเล่น ต้องการ Sustain ที่ยาวเพื่อใช้ในการเล่นโน้ต และคอร์ด บางคนอาจใช้คำพูดว่า “Singing Quality” ในการอธิบายเรื่อง Sustain ได้เช่นกัน แต่ Sustain ที่ยาวในบางกรณี แบบ Percussive(เน้นเล่นเป็นจังหวะ) เช่น การเล่นในแนวกีตาร์ Flamenco นักเล่นต้องการ Sustain สั่นกว่า หรือ กีตาร์ Archtop ใช้เล่น Rhythm sectionในวงดนตรีสำหรับเต้นรำในช่วงปี 1930-1940 เป็นต้น

การทำกีตาร์มีปัจจัยที่มีผลต่อ Sustain หลายอย่าง เช่น น้ำหนักของไม้หน้า ถ้าน้ำหนักไม้หน้าเบาการสั่นจะดีกว่าทำให้ Sustain ยาว, การติดตั้ง Saddle และ Nut ที่ดี (พอดีกับร่องของมัน)จะช่วยลดการสูญเสียพลังงานที่ส่งจากสายไปขยับไม้หน้าส่งผลให้ Sustain มากขึ้น, การตั้ง Action (ความสูงของสายกีตาร์) Action ต่ำส่งผลให้ Sustain สั้นลง, ผู้เล่นมีส่วนเช่นกันในการเพิ่ม Sustain ให้ยาวขึ้นโดยใช้เทคนิคการเล่นแบบ Vibrato ซึ่งเป็นการเพิ่มพลังงานให้กับการสั่นของไม้หน้า เป็นต้น

● Wraparound & Projection

Wraparound และ Projection เป็นเรื่อง ทิศทางของเสียงเครื่องดนตรีที่กระจายออกไปบริเวณรอบเครื่องดนตรี Wraparound เป็นทิศทางเสียงที่ได้ยินด้านหลังกีตาร์ก็คือผู้เล่นนั่นเอง ว่าได้เย็นชัดเจนเพียงไร เปรียบเสมือนมอนิเตอร์ มีประโยชน์ให้ผู้เล่นควบคุมคุณภาพเสียงการเล่นของตัวเองได้ในกีตาร์สมัยใหม่โดยเฉพาะสายเหล็กนิยมทำ Sound port

คือการเจาะรูบริเวณไม้ข้างเพื่อให้ผู้เล่นได้ยินเสียงกีตาร์ได้ดียิ่งขึ้น ส่วน Projection เป็นทิศทางเสียงที่ออกไปข้างหน้าสู้ผู้ฟัง และ เพื่อนร่วมวง มีความสำคัญมากในกรณีแสดงคอนเสิร์ตโดยเฉพาะกีตาร์คลาสสิกเมื่อไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียงในการแสดงในบางครั้งช่างทำกีตาร์ใช้ Tornavoz ติดตั้งที่ sound hole เพื่อการเสริม projection

● Presence

คำว่า Presence ในภาษาอังกฤษแปลว่า การแสดงตน คำนี้อธิบายค่อนข้างเข้าใจยาก เน้นเรื่องความรู้สึก ซึ่งเป็นด้านของผู้ฟัง เมื่อผู้ฟังอยู่ในห้องคอนเสิร์ตไม่ว่าฟังที่จุดไหนจะได้ยินเสียงกีตาร์ได้ชัดเจนคุณภาพเสียงใกล้เคียงกัน หรือแม้แต่นักกีตาร์เล่นในโน้ตที่เบา คุณภาพเสียงของโน้ตนั้น จากเรื่องของเสียงกีตาร์ที่กล่าวมาทั่งหมดประมาณ 10 หัวข้อ

มีประโยชน์หลายอย่างเช่น

1.ช่างทำกีตาร์ใช้สื่อสารกับลูกค้า เพราะในการสั่งทำกีตาร์ลูกค้ายังไม่ได้ยินเสียงกีตาร์แต่ต้องตัดสินใจสั่งทำ เพราะฉะนั้นการพูด อธิบาย ความต้องการของลูกค้าและช่างทำกีตาร์ควรเข้าใจชัดเจน หรือถ้าให้ดีควรมีตัวให้ลองก่อน

2.ช่างทำกีตาร์สามารถอธิบายคุณสมบัติกีตาร์ได้

3.ใช้ความรู้นี้ออกแบบกีตาร์หรือเสียงที่เราต้องการขึ้นมาใหม่

4.ใช้เป็นแนวทางพัฒนาการทำกีตาร์ เช่น อาจทำตัวเสียงมาตรฐานไว้ตัวหนึ่งเพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติเสียง ทุกครั้งที่ทำตัวใหม่เสร็จ นำตัวใหม่และตัวเสียงมาตรฐานมาเปรียบเทียบกันในคุณสมบัติเสียงต่างๆกัน
ในสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน เช่น ห้องลองเสียงเดียวกันเป็นต้น
เป็นต้น

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้ที่ “นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล”